ทำความเข้าใจกับมาตรฐานเฉดสี เพื่อบรีฟงานทุกประเภทให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตรงใจ

RAL Standard Colour

เรื่องของสี แค่ผิดเพี้ยนเพียงนิดเดียว ปัญหาใหญ่ก็อาจเกิดได้แบบคาดไม่ถึง เช่น ซ่อมสีรถถลอก แต่ดันเลือกสีผิดชีวิตเปลี่ยนกลายเป็นรอยด่างเกือบต้องเปลี่ยนแทบทั้งคัน หรือ สั่งพิมพ์งานป้ายขนาดใหญ่ไปแต่ได้สีไม่โดนใจลูกค้าเอาซะเลยก็ต้องเสียเงินสั่งพิมพ์ใหม่อีก เป็นต้น

นี่ยังไม่นับรวมเรื่องลูกค้าบรีฟสีแต่ละทีมีโอกาสปวดเศียรเวียนเกล้าไปอีก ที่เรามักจะเห็นเหล่ากราฟิกเอามาแซว อย่าง ลูกค้าบรีฟ “สีเหลืองพระอาทิตย์ส่องประกายสดใสหลังฝนตกมีความพาสเทลและอบอุ่นหัวใจ แต่ไม่เหลืองมากหรืออ่อนจนเกินไป” ฟังแล้วหมือนมีสีที่คิดไว้ แต่ก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้อีกฝ่ายนึกถึงสีที่ตรงใจออกดี ไหนจะเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสีอีกล้านแปด แต่พอจะเห็นมั้ยล่ะว่า เรื่องของความเข้าใจในมาตรฐานเฉดสีมีความสำคัญไม่น้อย

บทความนี้เลยขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับมาตรฐานเฉดสีตามหลักสากล เพื่อให้บรีฟกี่ทีก็ไม่มีพลาด สั่งทำงานใดๆ ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึง อุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ไม่มีเพี้ยน ด้วยเทคนิคดีๆ ของผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งเฉดสีตามมาตรฐาน RAL โดยเฉพาะ

ทำความเข้าใจ กับ คำว่า ‘มาตรฐานเฉดสี’

แม้ตามหลักวิทยาศาสตร์ มนุษย์สามารถรับรู้สีบนโลกได้เฉลี่ย 1,498 สี แต่ถ้าพูดถึงเฉดสีจริงๆ ทั้งหมดบนโลกใบนี้อาจนำมาเรียงได้ไม่หมด ลองคิดเล่นๆ ดูว่า ถ้าเราพูดแค่ชื่อสีสั้นๆ เช่น สีม่วง สีเขียว สีฟ้า ฯลฯ ให้อีกฝั่งฟัง โอกาสจะได้งานที่มีสีตรงใจจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกัน? (ขนาดเจอบรีฟแปลกๆ จากลูกค้ายังแทบไปกันไม่เป็นเลยใช่มั้ยล่ะ)

การมีมาตรฐานเฉดสีเลยเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การสื่อสารในเรื่องของ ‘สี’ มีความเป็นสากลเข้าใจตรงกันมากขึ้น โดยการกำหนดรหัสเฉพาะของแต่ละเฉดสี เสมือนกับภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลไม่ว่าบนโลกจะมีภาษาต่างกันขนาดไหนหรือมาจากชาติใดก็สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ และหนึ่งในมาตรฐานเฉดสีที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมทั่วโลกก็คือ RAL Colour Standard

RAL Colour Standard คืออะไร?

RAL Colour Standard คือ ระบบเฉดสีมาตรฐานไว้สื่อสารให้เข้าใจตรงกัน หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ‘ภาษาสี’ (หากคุณเข้าใจ Pantone ระบบ RAL ก็ไม่ต่างกัน) ถูกกำหนดขึ้นมาและบริหารจัดการโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร นามว่า German RAL g GmbH (RAL non-profit LLC) ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งในสถาบัน German RAL Institution โดย RAL colour system   แบ่งตามประโยชน์ใช้สอยได้ดังนี้

1. RAL Classic

ส่วนใหญ่เฉดสีที่ถูกคัดเลือกให้เป็น RAL Classic Collection หรือ ‘เฉดสีมาตรฐาน’ จะมีเกณฑ์การตัดสินคือ “มีความสำคัญในเรื่องของการใช้ประโยชน์สูงสุด” ดังนั้น จะเห็นว่า เฉดสีส่วนใหญ่ใน collection นี้จะถูกหยิบไปใช้เป็นเฉดสีมาตรฐานความปลอดภัย(warning & traffic signs) และใช้งานสำคัญของแต่ละประเทศทั่วโลก อย่าง สีป้ายจราจร ป้ายอุตสาหกรรม ตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ ได้แก่ RAL-1004  Swiss Postal, RAL-1021-Austrian Postal, RAL-1032 German Postal

นอกจากนี้ยังมี RAL Colour กลุ่ม Classic เกิดใหม่ตามมาอีกหลากหลาย collection เช่น RAL K5 Classic เป็นคอลเลคชั่น Semi-matt ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2019 โดยเพิ่มมาอีกสองสี คือ RAL 2017 Orange และ RAL 9012 Clean Room White รวมเป็น 215 เฉดสี จากเฉดสีเริ่มต้น เมื่อปี 1927 เพียงจำนวน 40 เฉดสี นิยมใช้กับอุตสาหกรรมสีรถยนต์ เรือใบ สีป้ายแจ้งเตือนต่างๆ รวมถึงงานอุตสาหกรรม อย่าง paint varnish, powder coating และ plastic coating

2. RAL Effect

การต่อยอดของสีสันไม่มีที่สิ้นสุด จากคอลเลคชั่นคลาสสิคเลยเริ่มพัฒนาเข้าสู่คอลเลคชันสี ‘RAL Effect’ ตอบโจทย์การใช้งานด้านการออกแบบโดยเฉพาะ ตอบโจทย์ความทันสมัยและโดดเด่นสะดุดตา ในส่วนของ RAL Effect ประกอบด้วยเฉดสีธรรมดา 420 เฉด แบ่งออกเป็นกลุ่มสี และแต่ละสีจะถูกแบ่งออกเป็นเฉดสีที่ใกล้เคียงกันอีก 6 เฉด และโดดเด่นด้วยการมาพร้อมกับเฉดสีเมทัลลิกอีก 70 เฉดสี รวมเป็น 490 เฉดสี

นอกจากนี้ RAL Effect ยังเป็นคอลเลคชั่นแรกของชาร์ตสี RAL Colour ที่ใช้ระบบ Water-based เมื่อ RAL ได้ปล่อยชาร์ตสี water-based คอลเลคชั่นนี้ครั้งแรกในปี 2007 ก็เริ่มต้นใช้พวกวัสดุในการทำชาร์จสีและผลิตสีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

3. RAL Design System plus

อีกหนึ่งชาร์ตสีจาก RAL เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้สีในการออกแบบที่ทันสมัยโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่นิยมใช้ในงานด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบกราฟิก อุตสาหกรรม และอื่นๆ ให้เฉดสีออกมาตรงใจและรวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐานของ CIELab ที่ยอมรับกันในระดับสากล  มีการไล่เรียงเฉดสีจนออกมาเป็น 1,825 เฉดสี เมื่อเห็นบนชาร์ตของแต่ละสีจะดูเข้ากันอย่างลงตัว เสมือนกับการนำแต่ละสีมาไล่เรียงระดับความเข้ม-อ่อน ให้การออกแบบสามารถเลือกสีสันตรงใจลูกค้าได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย หมดปัญหาบรีฟสีจากลูกค้าที่ยิ่งฟังยิ่งงงไปได้เลย

PANTONE คืออะไร

อีกหนึ่งมาตรฐานเฉดสีที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักไม่แพ้กันกับ RAL ก็น่าจะเป็น PANTONE เนื่องจากเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในแวดวงการออกแบบและอุตสาหกรรมต่างๆ ในระดับสากล ผ่านการสร้างสรรค์และพัฒนามาตั้งแต่ปี 1993 โดยบริษัทที่มีนามว่า PANTONE ตามชื่อมาตรฐานสี มักจะเห็นการใช้งาน PANTONE ในรูปแบบของชาร์ตสีจากแม่สี 14 สี เรียกว่า ‘Pantoniers’ หน้าตาคล้ายกับพัดกระดาษ พร้อมบอกถึงอัตราส่วนการผสมสีพื้นฐาน สำหรับแต่ละเฉดสีตลอดจนประเภทของกระดาษที่จะพิมพ์สี – ไม่เคลือบ ด้าน และเงา รวมถึงการพิมพ์ลงบนวัสดุต่างๆ ซึ่งสี PANTONE ที่เลือกอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัสดุที่สั่งทำก็เป็นได้ ทำให้พอจะเห็นภาพจำลองก่อนสั่งพิมพ์จริง เพื่อให้จัดทำออกมาได้สมบูรณ์แบบได้โดยไม่ต้องเปลืองแรง เวลา หรือเงิน

Pantone
Pantone Standard

ทั้งนี้ ปัจจุบัน PANTONE มีมาตรฐานเฉดสีให้เลือกใช้งานหลากหลายกลุ่มสี เช่น Pantone Formula Guides and Solid Chips มีสีโซลิด 1,867 สี มีทั้งเนื้อกระดาษด้านและแบบเคลือบเงา, Pantone Extended Gamut Coated Guide มีเฉดสี 1,729 สี โดยเทียบเคียงสีจากแพนโทนโซลิด กับ CMYK+OGV เป็นต้น

RAL Colour Standard กับ PANTONE ต่างกันอย่างไร?

โดยปกติแล้ว เมื่อมีการใช้งานจริง RAL Colour Standard ถือเป็นมาตรฐานสีที่ค่อนข้างได้เปรียบกว่ามาตรฐานสีอื่น รวมถึง PANTONE เองก็ตาม ด้วยความที่ RAL ถูกหยิบมาใช้เป็นเวลานานกว่าและผ่านการใช้งานสำคัญทุกแวดวงอุตสากรรม หลากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ RAL Colour Standard เสมือนเป็นภาษากลางในการสื่อสารเรื่องสี ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ใกล้ไกลประเทศไหน หรือเนื้องานประเภทใดก็ตาม

แต่ถ้าต้องแยกความแตกต่างจริงๆ อาจจะพิจารณาจากเนื้องานที่เหมาะสมกับการเลือกใช้มาตรฐานสีแต่ละประเภท โดยส่วนใหญ่ RAL จะนิยมใช้งานในอุตสาหกรรม การก่อสร้าง รถยนต์ เรือ ป้ายสำคัญ และการทาสีเคลือบผงลงบนสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ส่วน PANTONE มักจะใช้ในงานออกแบบและสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ มากกว่า

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเลือกมาตรฐานสี RAL, PANTONE หรืออะไรก็ตาม หากผู้ที่ใช้สีมีความรู้และความเข้าใจก็จะสามารถแปลงสี(convert) จาก Colour systems รูปแบบ RGB หรือ CMYK หลังผ่านการออกแบบลงบนโปรแกรมมาเป็น RAL และ Pantone ได้ผ่านตามเว็บไซต์ต่างๆ กันแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมหยุดปัญหาสีเพี้ยนไม่ตรงใจไปได้เลย

D-Act เชื่อว่า กว่าจะได้เฉดสีที่ตรงใจลูกค้านั้นไม่ง่าย ยิ่งการผลิตสีเพื่อใข้ในงานอุตสาหกรรมให้ตรงสเป็คยิ่งต้องใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญสูง เราจึงมุ่งมั่นพัฒนาบริการทั้ง รับแต่งเฉดสีตามมาตรฐาน RAL ให้การสื่อสารจากคุณถึงลูกค้าผ่านสีสันไม่ใช่เรื่องยาก ไปจนถึงรังสรรค์สีอุตสาหกรรมทุกประเภทด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย ผสานความเชี่ยวขาญจากทีมช่างมากประสบการณ์เรื่องสีกว่า 40 ปี ผ่านการสร้างสรรค์สีมานับไม่ถ้วน เพื่อตอบโจทย์ครอบคลุมทุกความต้องการสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นคุณผ่านสีสันได้แบบจัดเต็ม นึกถึงตัวจริงเรื่องสี ต้อง D-Act!