4 สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนลงบาร์สี

แม่สีพ่นรถยนต์

สำหรับท่านที่มีแผนจะทำศูนย์ซ่อมสีรถยนต์และมีแผนที่จะลงบาร์สีคงพอทราบความแตกต่างของสีเบอร์หรือสีบาร์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามบทความนี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของสีแต่ละแบบ เพื่อให้ท่านสามารถเลือกใช้สีได้เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน

สีเบอร์คืออะไร

สีเบอร์คือสีจริงที่ผู้ผลิตสีผสมมาให้แล้ว โดยจะระบุเป็นเบอร์ต่างๆตามยี่ห้อรถ รุ่นรถ และปีที่ผลิต ทั้งนี้สีเบอร์ไม่ได้มีความหมายถึงประเภทของสีจริง โดยอาจจะเป็นระบบไนโตรเซลลูโลส หรือสีอะคริลิค หรือสี 2K ก็เป็นได้ ดังนั้นแม้จะเป็นสีเบอร์เดียวกัน ผู้ใช้ก็ต้องดูลึกลงไปในรายละเอียดว่าเป็นสีประเภทใดเพื่อที่จะได้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง สีเบอร์ที่เป็นที่นิยมในท้องตลาด ได้แก่ PYLAC4000 (Nippon Paint), Morrison, Nason เป็นต้น

เบอร์เฉดสีมาตรฐานตามแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ

ข้อดีของการเลือกใช้สีเบอร์คือความสะดวก ผู้ใช้สามารถเลือกเบอร์ที่ตรงกับรุ่นรถได้ทันที หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามความเหมือนของสีเบอร์ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิต ทั้งนี้หากรถที่ต้องทำการซ่อมสีผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่งอาจจะทำให้สีมีความผิดเพี้ยนไปจากเดิม การใช้สีเบอร์ที่แต่งตามมาตรฐานก็อาจจะทำให้ซ่อมสีออกมาไม่เหมือนสีเดิมก็เป็นได้

สีบาร์คืออะไร?

สีบาร์เป็นชื่อเรียกที่ติดปากในกลุ่มช่างสี ซึ่งมีที่มาจากอุปการณ์ที่ทางผู้ผลิตสีติดตั้งให้กับลูกค้าพร้อมกับการสั่งซื้อชุดแม่สีในครั้งแรก มีลักษณะเป็นชั้นวางสีซึ่งในแต่ละตำแหน่งที่วางแม่สีจะมีการติดตั้งมอเตอร์เพื่อใช้งานร่วมกับฝาเทซึ่งมีใบกวนสีเพื่อป้องกันการนอนก้นของแม่สี ดังนั้นผู้ใช้งานจึงเรียกติดปากกันว่าสีบาร์

ฝาเท
ฝาเทสำหรับบาร์สี

หลักการของสีบาร์คือการที่ผู้แต่งสีสามารถแต่งสีได้ตามสูตรสีที่ผู้ผลิตสีรวบรวมให้ โดยใช้ชุดแม่สีบนบาร์นอกจากนี้ยังสามารถแต่งสีตามตัวอย่างที่ลูกค้าจัดหามาให้อีกด้วย ปัจจุบันแม่สีจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่

  1. แม่สีระบบ Balanced Tints เป็นแม่สีที่มีความเข้มข้นของสีพร้อมใช้งาน มีสารยึดเกาะหรือกาว (Binder) อยู่ในแม่สีแล้ว เมื่อผสมแม่สีเข้าด้วยกันตามสูตรสีหรือแต่งสีตามชิ้นงานตัวอย่างแล้ว ช่างสีสามารถนำไปใช้งานได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเติมสารยึดเกาะหรือกาวเพิ่มเติม ข้อดีของระบบ Balanced tints คือ ช่างผสมสีจะทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยความที่ตัวแม่สีเองมีความเข้มข้นไม่สูงมากนัก ตัวอย่างของแม่สีระบบนี้ ได้แก่ ระบบแม่สีของ Glasurit (สีนกแก้ว)
  2. แม่สีระบบ Concentrated Tints เป็นแม่สีที่มีความเข้มข้นสูง เมื่อผสมแม่สีเข้าด้วยกันตามสูตรสีหรือชิ้นงานตัวอย่างแล้ว ช่างสีจำเป็นต้องเติมกาว (Binder) ลงในแม่สี โดยคุณสมบัติของสีหลังจากเติมกาวลงไปแล้วนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของกาวที่เติมลงไป ดังนั้นระบบสีดังกล่าวนี้ จึงมีความยืดหยุ่นกับนักแต่งสีและร้านค้ามาก เนื่องจากสามารถเก็บแม่สีเพียงแค่ชุดเดียวแต่สามารถนำมาใช้แต่งสีได้หลายระบบ โดยเปลี่ยนแค่กาวเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนโดยการปรับความเข้มข้นของสีโดยการใส่กาวเพิ่ม* โดยแบรนด์ที่ทำให้ระบบนี้เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันก็คือ Centari ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Axalta นั่นเอง

*การปรับกาวนอกเหนือจากสูตรสีที่ทางผู้ผลิตระบุไว้ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญการตามความเหมาะสมเท่านั้น เนื่องจากจะกระทบต่อการกลบตัวและเฉดสี

Mixing Machine เครื่องผสมสี
บาร์สีพร้อมชุดแม่สี Corium

แล้วเราควรจะเลือกใช้สีเบอร์หรือลงบาร์สี ???  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้

  1. เงินลงทุน เนื่องจากการทำบาร์สีต้องอาศัยอุปกรณ์และชุดแม่สี รวมถึงพื้นที่ในการวางชุดอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ในขณะที่การใช้สีเบอร์เราสามารถเลือกซื้อเฉพาะเฉดสีที่ต้องการเท่านั้น
  2. ช่างแต่งสี งานแต่งสีเป็นงานที่ผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต้องมีความละเอียดและความชำนาญ ดังนั้นช่างแต่งสีในท้องตลาดจึงมีจำนวนไม่มากนัก หากร้านค้าหรือศูนย์ซ่อมรถยนต์ต้องการลงบาร์สีจึงต้องคำนึงถึงการจัดหาช่างแต่งสีด้วย
  3. ปริมาณงาน หากปริมาณงานของท่านมีจำนวนไม่มาก การเลือกใช้สีเบอร์ดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เพราะอย่าลืมว่าการลงบาร์สีจะต้องมีการสต๊อคแม่สีให้ครบทุกเฉดที่จำเป็น เพื่อให้สามารถขึ้นสูตรสีได้
  4. ความแม่นยำในการปรับแต่งเฉดสี สีบาร์จะสามารถปรับแต่งสีให้ใกล้เคียงกับรถของลูกค้าได้ ในขณะที่ความเหมือนของสีเบอร์จะขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิต อย่างไรก็ตามหากท่านมีบาร์สี ท่านอาจสามารถผสมผสานเข้าด้วยกันได้ โดยการนำสีเบอร์มาปรับเฉดด้วยตัวเอง (ทั้งนี้ต้องดูการเข้ากันได้ของแม่สีและสีเบอร์ก่อน)

ผู้ใช้งานสามารถเลือกระบบสีบาร์ตามความถนัดในการใช้งาน ความนิยมชมชอบในแบรนด์สินค้า และคำนึงถึงข้อดีข้อเสียตามที่กล่าวมาข้างต้น