เทคนิคการพ่นสี

การปรับปืนพ่นสี

ในงานสีพ่นรถยนต์และสีอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสวยงามแก้ชิ้นงานและปกป้องชิ้นงานนั้นจากสภาวะแวดล้อม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ควรจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจในทฤษฎีการพ่นสีที่ถูกต้องเสียก่อนที่จะลงมือปฎิบัติจริง ลองมาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้เลยครับ

ทำความเข้าใจคู่มือของสีที่จะพ่น

ไม่ว่าจะเป็นสีพ่นรถยนต์หรือสีอุตสาหกรรม จะมีวิธีการใช้งานอยู่ที่บริเวณข้างกระป๋อง หรือผู้ใช้งานสามารถขอเอกสารทางเทคนิคกับทางโรงงานผู้ผลิตสีได้ โดยควรศึกษาอัตราส่วนการผสม หากเป็นสี 2K ต้องเลือกใช้ฮาร์ดเดนเนอร์ตามที่ทางโรงงงานผู้ผลิตสีระบุเท่านั้น เลือกทินเนอร์แบบแห้งช้าหรือแห้งเร็วตามลักษณะชิ้นงานและอุณหภูมิห้องพ่น สามารถปรับสีให้ได้ความหนืดตามที่ระบุในคู่มือ หากเป็นเคลียร์เคลือบเงา 2K สำหรับสีพ่นรถยนต์สามารถปรับทินเนอร์ให้เหลวลงตามความเหมาะสมของช่างผู้ใช้งานได้ กะปริมาณที่จะใช้แล้วจึงทำการผสมสี (รายละเอียดเพิ่มเติม : วิธีการผสมสี 2K)

เลือกอุปกรณ์พ่นสีที่เหมาะสม

ในคู่มือการใช้งานจะมีระบุวิธีการในการใช้งานสี เช่น ทาด้วยแปรง พ่นด้วยปืนพ่นสี หรือกลิ้งด้วยลูกกลิ้ง ในกรณีของสีอุตสาหกรรมและสีพ่นรถยนต์นั้น การพ่นสีด้วยปืนพ่นสีที่นิยมใช้ได้แก่

  1. Air Spray ซึ่งเป็นการใช้แรงอัดอากาศเพื่อให้สีถูกดันออกมาเป็นละออง สามารถใช้ได้กับสีทุกชนิด เป็นที่นิยมในอู่พ่นสีรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะมีใช้ทั้งแบบกาบน (Gravity Feed) หรือแบบกาล่าง (Suction Feed) เนื่องจากอุปกรณ์ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด ใช้งานง่าย และให้ฟิล์มสีที่สวยงาม
  2. Airless Spray จะเป็นการพ่นสีแบบที่ไม่ใช้ลม แต่ใช้ High Pressure Pump แทน ตัวสีจะถูกให้แรงดันในปริมาณสูงจากนั้นจะส่งผ่านช่องเล็ก ๆ ให้สีออกมาเป็นละออง การพ่นสีแบบ Airless Spray นั้นจะทำให้สามารถพ่นสีได้ฟิล์มหนา แต่ฟิล์มสีจะไม่เรียบเนียน ดังนั้นจึงเหมาะใช้กับงานสีอุตสาหกรรมหรือสีป้องกันสนิมที่ต้องการฟิล์มสีที่หนาแต่ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม สำหรับงานพ่นสีทับหน้าของสีพ่นรถยนต์นั้นจะไม่เหมาะสมนัก
  3. Electrostatic Air Spray มีการนำเอาไฟฟ้าสถิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำการชาร์จไฟประจุลบด้านปลายปืนพ่นในระดับศักย์ไฟฟ้าที่เหมาะสม พอสีผ่าน Electrode บริเวณปลายปืนจะมีประจุอิเล็กตรอนส่งต่อเข้าไปภายในเม็ดสี เมื่อมีการพ่นสีจะมีประจุลบ แล้วพุ่งตรงไปยังตัววัตถุที่เป็นประจุบวก นิยมใช้กับการพ่นสีวัตถุให้ดูเรียบเนียนและการสูญเสียสีจะน้อยกว่าแบบอื่น ๆ

นอกจากการเลือกวิธีการพ่นแล้ว ผู้ใช้ต้องเลือกเส้นผ่านศูนย์กลางของรูพ่นสี (Nozzle) ให้เหมาะสมความถนัดของช่างผู้ใช้และเหมาะสมกับสีประเภทนั้นๆด้วย (โดยปกติจะมีระบุอยู่ในเอกสารคู่มือหรือบริเวณข้างกระป๋องสี) โดยมีวิธีการเลือกเบื้องต้นดังนี้

  • สีรองพื้นและกลบรอย เหมาะกับรูพ่นสีขนาด 1.5-2.0 มม.
  • สีเบสโค้ทเหมาะกับรูพ่นสีขนาด 1.3-1.5 มม.
  • สีจริงทับหน้าและเคลียร์ 2K เหมาะกับรูพ่นสีขนาด 1.2-1.5 มม.

ทฤษฎีการพ่นสีเบื้องต้น

  • ปรับตามทิศทางรูปร่างสีบริเวณฝาครอบหัวลม ปรับรูปร่างหน้ากว้างของละอองสี (Pattern) ตรงน็อตหัวปืน โดยควรปรับให้เหมาะสมกับชิ้นงาน
  • ปรับปริมาณเนื้อสีที่พ่น หมุนน็อตออกเนื้อสีจะมากขึ้น หมุนน็อตเข้าเนื้อสีจะน้อยลง
  • ปรับแรงดันลม โดยการหมุนน็อตเข้าแรงดันลดลง สีที่พุ่งออกจะไม่ค่อยแตกละอองฝอย แต่ถ้าปรับแรงดันลมด้วยการคลายสกรูจะได้ปริมาณสีมากขึ้น ทว่าการปรับแรงดันลมจะสัมพันธ์กับการปรับรูปร่างสี ระยะห่างของปืน และความเร็วในการเดินปืนพ่นสีด้วย ทั้งนี้ในคูมือมักจะระบุแรงดันลมที่เหมาะสมในการพ่นสีด้วย
การปรับปืนพ่นสี
การปรับปืนพ่นสี
  • เดินปืนพ่นสีให้ขนานและตั้งฉากกับชิ้นงาน ระยะห่างกับความเร็วตัองสัมพันธ์กัน โดยทั่วไประยะการพ่นสีระหว่างวัตถุกับปืนพ่นสีควรอยู่ที่ประมาณ 6-8 นิ้ว เพราะถ้าพ่นใกล้เกินไปสีจะไหลได้ง่าย หากพ่นไกลเกินไปจะมีละอองสีเกิดขึ้นทำให้เกิดสีเป็นเม็ดได้ (Overspray) และพยายามรักษาระยะห่างในการพ่นสีให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งตัววัตถุ เดินปืนพ่นสีด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ
วิธีการพ่นสี
วิธีการพ่นสีเบื้องต้น
ระยะห่างในการพ่นสี
ระยะห่างในการพ่นสี
  • แนวทับซ้อนของละอองสีต้องไม่ต่ำกว่า 50% จะทำให้เกิดความหนาของชั้นสีที่สม่ำเสมอ ทิ้งช่วงให้ฟิล์มสีเริ่มด้านแล้วจึงเริ่มพ่นสีเที่ยวต่อไป (โดยมากจะพ่น 2-3 เที่ยว) พ่นให้ได้ความหนาสีตามที่เอกสารคู่มือระบุ
แนวทับซ้อนของการพ่นสี
  • กรณีวัตถุที่มีความยาว ระหว่างพ่นสีต้องแบ่งออกเป็น 2-3 ช่วง ขณะที่ระยะในการทับซ้อนของแต่ละช่วงควรอยู่ราว ๆ 4 นิ้ว

นอกจากทฤษฎีการพ่นสีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้งานสีพ่นรถยนต์หรือสีอุตสาหกรรมสวยงาม คือประสบการณ์และความชำนาญของช่างสีในการปรับวิธีการพ่นสีให้เหมาะสมกับลักษณะของชิ้นงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานในขณะนั้นอีกด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ช่างสีมือใหม่ทุกท่านครับ