ผู้ใช้งานสีทุกคนย่อมเคยประสบปัญหาในการทำงานเกี่ยวกับสี ไม่ว่าจะเกิดจากผู้ใช้งาน อุปกรณ์พ่นสี สภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือแม้กระทั่งเกิดจากสีที่ใช้ก็ตาม เรามาดูปัญหาเหล่านี้ที่พบเจอได้บ่อยครั้ง พร้อมสาเหตุและการแก้ไขกันครับ
1. สียึดเกาะไม่ดี
ชั้นสีลอกตัวจากพื้นผิววัสดุ โดยอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ในบางครั้งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบสีได้หลายชั้น เช่น หลุดร่อนจากสีทับหน้าหรือหลุดร่อนจากชั้นสีรองพื้น เป็นต้น
สาเหตุ :
ชั้นสีชั้นใดชั้นหนึ่งภายในระบบสีติดไม่แน่นสนิทดีเนื่องจากสารปนเปื้อน เช่น คราบน้ำมัน คราบซิลิโลน หรือคราบจารบี เป็นต้น การใช้กระดาษทรายผิดเบอร์ ในกรณีที่พื้นผิวเป็นเหล็ก การเตรียมผิวเหล็กที่ไม่ดีพอ มีขุมสนิมอยู่ที่ผิวก็สามารถทำให้สีหลุดร่อนได้ การใช้ตัวเร่งหรือทินเนอร์ไม่ถูกต้อง ทินเนอร์ที่ใช้แห้งเร็วเกินไป หรือระยะเวลาทิ้งช่วงระหว่างเที่ยวไม่เพียงพอ หากเป็นระบบสี 2K อัตราส่วนในการผสมผิดหรือตัวเร่งหมดอายุก็อาจเป็นสาเหตุได้
และอาจเกิดจากการเลือกใช้สีรองพื้นที่ไม่เหมาะสมกับพื้นผิว เช่น พลาสติก PP ควรจะใช้สีรองพื้นเกาะพลาสติกโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้สีรองพื้นสำหรับงานเหล็กเป็นต้น ส่วนงานสแตนเลสหรืออลูมิเนียม ควรเลือกใช้สีรองพื้นวอชไพรเมอร์หรือสีรองพื้นอิพ็อกซี่ เป็นต้น
การแก้ไข :
ขั้นตอนแรก ควรทำให้ชั้นสีที่ลอกร่อนหลุดออก ซึ่งอาจทำได้ด้วยการขัดกระดาษทราย (Sanding) การลอกสี (Stripping) หรือการพ่นขัดด้วยทราย (Sandblasting) ทั้งนี้วิธีการลอกสีที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ จากนั้นจึงพ่นสีใหม่ตามระบบ หากเกิดจากการใช้สีรองพื้นผิดประเภท ควรทำการลอกสีออกจนถึงพื้นผิวแล้วจึงพ่นสีรองพื้นที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง
2. สีเป็นตุ่มเล็กๆ
พื้นผิวมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ โดยอาจจะเป็นอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือแผ่กระจายบนพื้นผิว ตุ่มเล็กๆเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้สีทับหน้าระหว่างสีชั้นใดชั้นหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความชื้นหรือสารปนเปื้อนภายใต้สีดันระบบสีพ่นรถยนต์ขึ้น ตุ่มเล็กเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากใช้งานแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งหากลองเปิดพื้นผิวที่เป็นเม็ดออกอย่างระมัดระวัง จะสามารถพบเห็นได้ว่าชั้นสีใดเป็นสาเหตุของตุ่มสีเล็กๆเหล่านี้ได้
สาเหตุ :
มีตุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่สีเดิมจากโรงงานมีสารปนเปื้อนติดอยู่บนผิวก่อนการพ่นสีมีละอองไอน้ำจากการควบแน่นของอากาศชื้นเกาะบนรถยนต์ หลังเช็ดทำความสะอาดคราบไขมันแล้วฝุ่นจากการขัดด้วยกระดาษทรายแห้งตกค้างอยู่บนพื้นผิวรถขัดสีโป๊วพลาสติกด้วยกระดาษทรายน้ำ หรือสีโป๊วดูดความชื้นจากอากาศ
นอกจากนี้อาจเกิดจากการเลือกใช้ทินเนอร์ที่มีอัตราการระเหยที่ไม่สมดุล ประกอบกับการพ่นสีที่หนาเกินไปโดยไม่มีการทิ้งช่วงระหว่างเที่ยวที่เพียงพอ ทำให้ฟองอากาศที่ค้างอยู่ในฟิล์มสีไม่สามารถระบายออกได้ทัน จึงพยายามดันฟิล์มสีขึ้นมา
การแก้ไข :
ทำให้ชั้นสีที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ ของระบบสีหลุดออก ด้วยการขัดกระดาษทราย (Sanding) การลอกสี (Stripping) หรือการพ่นขัดด้วยทราย (Blasting) จนถึงพื้นผิวที่เรียบและพ่นสีใหม่อีกครั้ง
3. สีเป็นฝ้ามัว
สีที่พึ่งพ่นเสร็จมีฝ้าขุ่นขาวปรากฏขึ้น (เป็นฝ้ามัว) สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผลิตภัณฑ์ 1K ซึ่งแห้งตัวได้เองและผลิตภัณฑ์ 2K
สาเหตุ :
การใช้ทินเนอร์ที่แห้งเร็วมากจะทำให้พื้นผิววัสดุเย็นตัวลงเร็วมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ความชื้น ควบแน่นเป็นละอองไอน้ำเกาะบนพื้นผิวฟิล์มสีที่ยังเปียกอยู่แรงดันลมที่ใช้พ่นสีสูงเกินไปเป็นเหตุให้ชิ้นงานเย็นตัวเร็วบริเวณโดยรอบชิ้นงานชื้นหรือหนาวเย็น หรือมีการหมุนเวียนเร็วเกินไป ระยะเวลาแห้งตัวสำหรับชิ้นงานที่พ่นสีแล้วยังไม่นานพอที่สีจะแห้งสนิทก่อนนำออกมาสู่ภายนอกและเกิดควบแน่นเป็นละอองไอน้ำแทรกตัวอยู่ในฟิล์มสี
สำหรับในกรณีของสีพ่นรถยนต์ 2K ในชั้นเคลียร์เคลือบเงานั้น การปนเปื้อนของน้ำในระบบสีไม่ว่าจากตัวเนื้อสี ฮาร์ดเดนเนอร์ หรือทินเนอร์ จะทำให้ฟิล์มสีเป็นฝ้าไม่เงาเท่าที่ควร
การแก้ไข :
ในกรณีปัญหาเล็กน้อย ขัดบริเวณที่ซ่อมไว้ด้วยผลิตภัณฑ์ขัดเงาสีรถ ในกรณีที่เป็นปัญหามาก ขัดสีทับหน้าออกด้วยกระดาษทรายและพ่นสีใหม่อีกครั้ง
4. สีเป็นตาปลา
พื้นผิวสีที่ยังไม่แห้งประปรายไปด้วยรูเล็ก ๆ มีลักษณะเป็นหลุมซิลิโคน ในบางครั้งสามารถมองเห็นพื้นผิวชั้นล่างที่ก้นหลุม
สาเหตุ :
เช็ดทำความสะอาดคราบไขมันตัวถังไม่ดีพอ มีคราบซิลิโคนปนเปื้อนอยู่บริเวณพื้นผิว ลมที่ออกมาจากเครื่องปั๊มลมมีน้ำหรือน้ำมันปนออกมา หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมในการพ่นไม่ดี มีฝุ่นละอองมาก มีลมแรง หรืออาจมีการปนเปื้อนในขั้นตอนการผสมสี เช่น ใช้ภาชนะที่ไม่สะอาดในการผสมสีเป็นต้น
การแก้ไข :
เช็ดทำความสะอาดคราบไขมันพื้นผิวที่เป็นหลุมอย่างทั่วถึง ขัดพื้นผิวที่เป็นหลุมจนเรียบ แล้วจึงทำการพ่นสีใหม่อีกครั้ง
5. สีเป็นละออง
พบละอองสีเกาะอยู่บนพื้นผิวสีที่เพิ่งพ่นเสร็จและไม่ถูกดูดกลืนลงไป พื้นผิวดูหยาบเนื่องจาก มีอณูละอองสีที่แห้งแล้วเกาะติดอยู่
สาเหตุ :
ใช้ทินเนอร์ที่แห้งเร็วเกินไปทำให้ผิวหน้าปิดเร็วจนละอองสีที่พ่นในเที่ยวถัดไปหรือบริเวณอื่นไม่สามารถซึมเป็นเนื้อเดียวกับฟิล์มสีก่อนหน้าได้ หรืออาจะเกิดจากการผสมสีพ่นข้นเกินไปเนื่องจากเติมทินเนอร์น้อยเกินไป แรงดันลมปืนพ่นสีสูงเกินไป เดินปืนพ่นสีเร็วเกินไปหรือพ่นห่างชิ้นงานเกินไป ใช้หัวพ่นขนาดเล็กเกินไป
การแก้ไข :
ในกรณีส่วนใหญ่ การขัดด้วยยาขัดก็เพียงพอแล้ว ในกรณีพิเศษ จำเป็นต้องขัดบาง ๆ ด้วย กระดาษทรายและพ่นสีใหม่
6. สีเป็นผิวส้ม
พื้นผิวสีที่เพิ่งทำเสร็จดูไม่เรียบลื่นและมีลักษณะคล้ายผิวส้ม ทำให้สีดีไม่เงาเท่าที่ควร
สาเหตุ :
สีที่พ่นนั้นมีความหนืดสูงเกินไป ทินเนอร์ที่ใช้แห้งเร็วเกินไป อัตราแรงดันลมปืนพ่นสีสูงหรือต่ำเกินไป อุณหภูมิโดยรอบสูงหรือต่ำเกินไป
การแก้ไข :
หากเป็นผิวส้มเพียงเล็กน้อย สามารถขัดออกได้ด้วยยาขัด หากเป็นมาก ต้องขัดพื้นผิวออกด้วย กระดาษทรายและพ่นสีใหม่
7. สีย่น
ฟิล์มสีมีลักษณะย่นเหมือนหนังไก่หรือลายก้นหอย ไม่เรียบ
สาเหตุ :
สีย่นเกิดได้หลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุหลักคือ การที่สีชั้นบนที่มีอาการย่นนั้นมีส่วนผสมของตัวทำละลายที่มีความสามารถในการทำละลายสูง เช่น กลุ่มคีโตน (Ketone) ทำให้สีชั้นบนกัดชั้นสีล่างจนเกิดอาการย่น หรือการพ่นสีลงบนสีรองพื้นที่ยังไม่แห้งสนิท ทั้งนี้หากสีรองพื้นที่ใช้เป็นสี 1K ก็จะมีโอกาสเกิดสีย่นได้มากกว่าสี 2K เนื่องจากสี 1K จะทนต่อสารเคมีด้อยกว่าระบบสี 2K ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดสีย่นได้มากกว่า หรืออาจเกิดจากการพ่นสีลงบนสีเก่าที่เสื่อมสภาพ
นอกจากนี้อาจเกิดจากการใช้สีผิดประเภท เช่น บนชิ้นงานพลาสติก ควรใช้สีที่ออกแบบมาสำหรับพลาสติกโดยเฉพาะ เป็นต้น
การแก้ไข :
ขัดผิวบริเวณที่ย่นออกด้วยกระดาษทรายจนถึงผิววัสดุแล้วทำการพ่นใหม่อีกครั้ง